สถานีวงเวียนใหญ่ (อังกฤษ: Wongwian Yai Station, รหัส S8) เป็นสถานีรถไฟลอยฟ้า ในเส้นทางรถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา สายสีลม ส่วนต่อขยายตากสิน-บางหว้า ช่วงที่ 1 (สะพานตากสิน-แยกตากสิน) ยกระดับเหนือถนนกรุงธนบุรี ใกล้แยกตากสิน ฝั่งธนบุรี กรุงเทพมหานคร
สถานีวงเวียนใหญ่ เป็นสถานีที่ก่อสร้างพร้อมกับสถานีกรุงธนบุรี ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีลม ส่วนต่อขยายตากสิน-บางหว้า ช่วงที่ 1 (สะพานตากสิน-แยกตากสิน) ระยะทาง 2.2 กิโลเมตร ซึ่งสถานีทั้ง 2 แห่งได้ก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จนแล้วเสร็จและมีกำหนดเปิดให้บริการกลางปี พ.ศ. 2550 แต่เนื่องจากทางกรุงเทพมหานคร ประสบปัญหาการจัดจ้างบริษัทติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณที่เสนอราคาสูง ประกอบกับทางบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ได้ปรับเปลี่ยนระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟฟ้าบีทีเอสมาเป็นระบบของบริษัทบอมบาดิเอร์ ทำให้การติดตั้งระบบการเดินรถล่าช้ากว่ากำหนดการไปมาก
จนกระทั่งวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 กทม. ได้ลงนามสัญญาจัดซื้อและติดตั้งระบบการเดินรถ ส่วนที่ 1 (ระบบอาณัติสัญญาณ) กับบริษัท บอมบาร์ดิเอร์ ทรานสปอร์เทชั่น ซิกแนล (ประเทศไทย) งบประมาณ 368 ล้านบาท กรอบระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน และเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ได้ดำเนินการจัดซื้อและติดตั้งระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ส่วนที่ 2 (ระบบสื่อสาร, ระบบจ่ายไฟฟ้า, ระบบควบคุมและจัดเก็บข้อมูล และระบบประกอบอาคารในสถานีที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับระบบรถไฟฟ้า) กับกลุ่มบริษัท AAT Consortium จำกัด งบประมาณ 675 ล้านบาท และลงนามในสัญญาว่าจ้างเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2551 ใช้ระยะเวลาติดตั้งระบบประมาณ 300 วัน
เมื่อส่วนต่อขยายนี้ดำเนินการเสร็จสิ้น กทม. ได้เปิดทดลองเดินรถไฟฟ้าช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นครั้งแรก โดยทดสอบระบบอาณัติสัญญาณและระบบที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม-12 เมษายน พ.ศ. 2552 และเริ่มทดลองให้บริการ (trial run) โดยไม่มีผู้โดยสารตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2552 ต่อมา กทม. ได้เปิดให้บริการแก่ประชาชนอย่างเป็นทางการโดยไม่คิดค่าโดยสารระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคม-12 สิงหาคม พ.ศ. 2552 หลังจากนั้นจึงจะเก็บค่าโดยสารตามระยะทาง ซึ่งหลังจากเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 8.00 น. วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 พบว่าสถานีวงเวียนใหญ่มีผู้ใช้บริการ 28,800 เที่ยวคน/วัน และสถานีกรุงธนบุรีมีผู้ใช้บริการ 12,000 เที่ยวคน/วัน รวม 40,800 เที่ยวคน/วัน และวันที่ 18 พฤษภาคม มีผู้โดยสารมากขึ้นเป็น 43,500 เที่ยวคน/วัน คาดว่าในอนาคต จะมีผู้โดยสารมาใช้บริการส่วนต่อขยายนี้ถึงวันละ 50,000 เที่ยวคน/วัน
ถนนกรุงธนบุรี เชิงสะพานลอยข้ามสี่แยกตากสิน (จุดตัดระหว่างถนนกรุงธนบุรี, ราชพฤกษ์ และถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน) บริเวณปากซอยสารภี 3 (ซอยกรุงธนบุรี 1 และ 4) ในพื้นที่แขวงคลองต้นไทรและแขวงบางลำภูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร
บริเวณโดยรอบสถานีเป็นชุมชนที่พักอาศัยหนาแน่น มีโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมใหม่เป็นจำนวนมากหลังจากที่มีโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าเกิดขึ้น จากสถานีสามารถเดินทางไปยังชุมชนและย่านค้าเครื่องหนังบริเวณถนนเจริญรัถ ใกล้ตลาดวงเวียนใหญ่และถนนลาดหญ้าได้ โดยใช้เส้นทางผ่านซอยสารภี 3 ระยะทางประมาณ 400 เมตร
ก่อนหน้าที่ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าจะเปิดให้บริการ ผู้โดยสารจากฝั่งธนบุรีจำนวนมากต้องโดยสารเรือข้ามฟากที่ท่าเรือเป็ปซี่ หรือเดินทางข้ามสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน เพื่อเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าที่สถานีสะพานตากสินและสถานีสุรศักดิ์ แต่จากการเปิดให้บริการที่สถานีวงเวียนใหญ่ ทำให้ผู้โดยสารรถประจำทางจากถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินและบริเวณวงเวียนใหญ่สามารถเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าได้โดยตรง ซึ่งที่ตั้งของสถานีวงเวียนใหญ่ห่างจากสถานีแรกของฝั่งธนบุรี คือสถานีกรุงธนบุรีเพียง 640 เมตรเท่านั้น
สถานีแห่งนี้เคยใช้ชื่อในโครงการระหว่างการก่อสร้างว่า "สถานีแยกตากสิน" เพราะตั้งอยู่ใกล้สี่แยกตากสิน (แต่จุดกึ่งกลางสถานียังห่างจากทางแยกถึงประมาณ 400 เมตร เนื่องด้วยข้อจำกัดจากโครงสร้างสะพานข้ามสี่แยกตากสิน) ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "สถานีวงเวียนใหญ่" ในปัจจุบัน สอดคล้องกับวงเวียนใหญ่ที่ถือเป็นจุดหมายตาที่สำคัญในย่านนี้ แม้ที่ตั้งวัดจากจุดกึ่งกลางสถานีจะอยู่ห่างจากสถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ของเส้นทางรถไฟสายแม่กลองถึง 800 เมตร และห่างจากพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ วงเวียนใหญ่ กว่า 1 กิโลเมตร ซึ่งทางกรุงเทพมหานครเคยมีแนวคิดที่จะสร้างสะพานทางเดินจากสถานีวงเวียนใหญ่ ไปตามเกาะกลางถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน และเชื่อมต่อไปยังพระบรมราชานุสาวรีย์ที่วงเวียนใหญ่ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้สัญจรบริเวณนี้
ปัจจุบัน สถานีวงเวียนใหญ่ไม่ได้เป็นสถานีปลายทางอีกต่อไป เนื่องจากเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีลม ส่วนต่อขยายวงเวียนใหญ่-บางหว้า ได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2556
เป็นแบบมีชานชาลาอยู่ 2 ข้าง (side platform station) ขนาดมาตรฐาน กว้างประมาณ 20 เมตร ยาวประมาณ 150 เมตร ประกอบด้วยชั้นขายบัตรโดยสาร และชานชาลา ในส่วนหลังคาชานชาลามีการออกแบบให้ป้องกันฝนสาดและแดดส่อง โดยเชื่อมปิดหลังคาทั้งหมด
จัดแสดงบริเวณชั้นขายบัตรโดยสาร ด้านทิศตะวันตกของสถานี มีแบบจำลองของสถานีวงเวียนใหญ่-กรุงธนบุรี และประวัติของโครงการรถไฟฟ้าสายสีลม ส่วนต่อขยายตากสิน-บางหว้า ช่วงที่ 1 (สะพานตากสิน-แยกตากสิน)
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/สถานีวงเวียนใหญ่_(รถไฟฟ้าบีทีเอส)